วันอังคารที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2556

อ้วยโท้


รูปภาพ : อ้วยโท้ เป็นแม่ทัพของซี้ไต้เทียนอ๋อง(สี่มหาราช) มีหน้าที่พิทักษ์วิหารในพระพุทธสาสนา หรือถ้าวัดขาดแคลน เมื่ออ้อนวอนบูชา อาจอำนวยความมั่งคั่งให้แก่วัดได้ อ้วยโท้ คำนี้ แผลงมาจากคำ เวโท(เวท)ในสันสกฤต ซึ่งในลัทธิอินเดียรุ่นหลังและทิเบตจัดให้เป็นตัวตน มีหน้าที่เป็นวิหารบาล ตกมาถึงเมืองไทยเราเรียกว่าท้าวมหาชมพูผู้จุลจักรพรรดิ ในเวลาทำพิธีกงเต๊ก ย่อมมีฉากรูปท่านผู้นี้ตั้งด้วยเสมอไป โดยหันหน้าเข้าข้างใน
ในวิหารต้นที่มีซี้ไต้เทียนอ๋องอยู่สองข้างและมีรูปพระศรีอารยอยู่กลางหันหน้าออก ถ้าเราผ่านพ้นห้องวิหารนั้นถึงลานใน จะพบรูปอ้วยโท้หันหน้าเข้าข้างใน ยันกับรูปพระศรีอารย(ดูได้ที่ในวัดมังกรกมลาวาส) เหตุไฉนจึงต้องหันหน้าเข้า น่าจะสันนิษฐานได้ว่า เหตุการณ์ภายหน้าเป็นหน้าที่ของพระศรีอารย ซึ่งเทพอ้วยโท้ไม่มีกิจเกี่ยวข้องด้วย เทพอ้วยโท้คงมีหน้าที่จะป้องกันพระศาสนาและบรรดาภิกษุสงฆ์ให้พ้นภัยเท่านั้น จึ่งได้หันหน้าเข้าข้างใน ตรงไปวิหารกลางซึ่งเป็นตอนสำคัญของวัด
เรื่องราวของเทพอวยโท้มีที่ทราบได้น้อย บรรดาคัมภีร์ต่างๆคงปรากฏชื่ออยู่เพียงในคัมภีร์กิมกวงเม่งเกง(สุวรรณประภาสสูตร คัมภีร์ฝ่ายพุทธตันตระ)เท่านั้น แต่ไปมีประวัติอยู่ในเรื่องซินเซียนทงกัง(รวมเรื่องเทวดาและเซียน มีขายในกรุงเทพฯ)ว่า สมัยหนึ่งพระยู่ไล้อัญเชิญพระพุทธเจ้าไปรับเลี้ยง ณ ลุ่ยอิมกัง(หอรามสูร)แดนไวเทียน(สวรรคสุขาวดี) ตรัสให้อ้วยโท้เจียงกุนมีหน้าที่สำหรับต้อนรับ  เทพอ้วยโท้สวมเกราะและหมวกประคองกระบี่ในท่าประณมเมืองเพียงอก เป็นอาการแสดงเคารพเชื้อเชิญผู้แขกมา
ขณะนั้นพระทีปังกรพุทธเจ้าตรัสแนะนำแก่บรรดาพระพุทธเจ้าว่า เทพผู้นี้คืออ้วยโท้เป็นศิษย์ของพระองค์ได้เคยศึกษาพระธรรมมาแต่เยาว์ บัดนี้เป็นแม่ทัพใหญ่ของซี้ไต้เทียนอ๋อง อาจไปสู่ทวีปต่างๆในวันเดียวได้ตั้งสามทวีปและมีอานุภาพหาเขตมิได้ ผู้สบทุกข์ถ้าอ้อนวอนบูชาก็ได้รับความช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นจึงได้นามว่าเทียนจุง ผู้มีเกียรติในสวรรค์ และเป็นผู้กล้าหาญอภิบาลพระพุทธศาสนาในกัลป์นี้ตลอดไปในสามทวีป ซึ่งล้วนมีเสียงแซ่สร้องสรรเสริญในท่านผู้นี้ที่มีการุณยภาพในมนุษย์นิกร เรื่องเทพอ้วยโท้ที่ทราบมีเท่านี้
รูปลักษณะเทพอ้วยโท้สังเกตได้ง่าย เพราะแต่งตัวสวมเกราะและหมวกอย่างทหาร สองมือประคองกระบี่ในท่าประณม บางทีไม่ใช้กระบี่ ใช่กระบองกังปี่มีเหลี่ยมเป็นปล้องๆอย่างงิ้วเล่น อาวุธนี้ใช้ปราบปีศาจหรือมารที่ทำการรังควานสงฆ์ รูปเทพอ้วยโท้ นอกจากมีไว้ในวิหารแรก บางทีถ้าทางเข้าวัดลดเลี้ยว เช่นเป็นทางบนภูเขาก็ตั้งไว้หัวเลี้ยว เพื่อป้องกันภัยแก่สัตบุรุษที่ไปนมัสการบูชาในวัด บางทีที่รูปเทพอ้วยโท้มีเทพธรรมบาลชั้นรองอยู่ด้วย ซึ่งเรียกว่ากาลั้ม อันจะได้เล่าต่อไปสวนหนึ่ง
อนึ่งเทพอ้วยโท้นี้ได้กล่าวว่าอาจอำนวยความมั่งคั่งแก่วัดได้ จึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไรด้วย เช่นเมื่อวัดต้องการเงินปฏิสังขรณ์ที่ชำรุดทรุดโทรม หลวงจีนต้องไปขออนุฐาตจากเจ้าพนักงานประจำตำบลเสียก่อน ได้รับอนุญาตแล้ว จึงจะจัดการเรี่ยไรได้ การอนุญาตเจ้าพนักงานเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรว่าหลวงจีนมีชื่อนี้ๆอยู่วัดนั้นเป็นผู้รับอนุญาตให้เรี่ยไรเงินปฏิสังขรณ์วัดได้ และประทับตราตำแหน่งเจ้าพนักงานผู้อนุญาตพร้อมทั้งปีเดือนวันคืน
หลวงจีนต้องนำใบอนุญาตนั้น ไปให้เจ้าพนักงานโปเทีย(คือนายตำรวจประจำท้องที่ มีตำแหน่งรองตีกุ้ยนายอำเภอ)ขอความอารักขาช่วยเหลือ เมื่อดำเนินการตามระเบียบเสร็จแล้ว ก็เอาศาลเทพอ้วยโท้ขึ้นแบกออกเดินไปยังตำบลที่จะเรี่ยไร ศาลอ้วยโท้นี้เป็นหีบขนาดเล็ก ข้างในเป็นป้ายมีอักษรสมมุติว่าเป็นภาพเทพอ้วยโท้ มีที่สำหรับเสียบธูปและมีอักษรบอกแผ่กุศลเรี่ยไรเงิน
หลวงจีนผู้ไปเรี่ยไร ไม่โกนผม คงปล่อยไว้ให้ยาวแล้วมุ่นขมวดเอาห่วงทองเหลืองรัดไว้(อย่างรูปเต้าหยิน)เมื่อเดินตามทางก็ตีกะโหลกไม้(เรียกว่าบั๊กฮือจะเห็นได้ในเวลาทำพิธีกงเต็ก) ซึ่งคล้องคอไว้  เมื่อประกาศความประสงค์แห่งการเรี่ยไรให้ทราบทั่วกันแล้ว ก็ขอให้เจ้าพนักงานโปเทียพาไปหาผู้มั่งคั่งหรือร้านโรงที่คะเนว่าคงออกเงินเรี่ยไร ผู้ออกเงินมากก็บันทึกชื่อและจำนวนเงินไว้ในทะเบียนพิเศษ ทำด้วยกระดาษเหลืองเรียกว่า รายชื่อผู้มีศรัทธากล้า แล้วรับเงินมอบให้ลูกศิษย์ไว้ในหีบหรือไถ้
ถ้าการเรี่ยไรไม่ได้ผล หลวงจีนก็ปลงศาลเทพอ้วยโท้ลงจากบ่าไปวางไว้ที่หน้าบ้านเจ้าพนักงานโปเทียคนใดคนหนึ่งหรือที่หน้าบ้านผู้มีอันจะกิน แล้วตนเองนั่งขัดสมาธิขอเรี่ยไรคนละเล็กละน้อยจากผู้สัญจรผ่านไปมา หากที่ทำนี้ไม่สำเร็จอีกก็ใช้วิธีใหม่เรียกว่ายืนบนเหล็กแหลมในหีบ คือมีหีบต่อฝาโปร่ง ขนาดสูงกว่าคนยืนนิดหน่อยนำไปตั้งไว้ที่ประชุมชน มีหลวงจีนตนหนึ่งเข้าไปยืนอยู่ในนั้น ซึ่งตรึงตาปูหีบให้แน่นมิให้ออกได้ หลวงจีนที่อยู่ภายนอกก็ป่าวประกาศแก่ประชาชนว่าหลวงจีนที่อยู่ในหีบจะต้องทรมานกายไม่บริโภคข้าวและน้ำ จนกว่าจะได้เงินเรี่ยไรพอกับจำนวนที่กะไว้ เพราะฉะนั้นจึงขอให้ผู้ใจบุญได้กรุณาแก่หลวงจีนที่ต้องทรมานเพราะเห็นแก่ศาสนาและเพื่อให้มหาชนมีความสงสารยิ่งขึ้นก็บอกด้วยว่าหลวงจีนที่อยู่ในหีบยืนเหยียบบนปลายเหล็กแหลม
อีกอย่างหนึ่งถ้าวัดขาดแคลนจตุปัจจัยก็มักมีพิธีพิเศษอ้อนวอนเทพอ้วยโท้ เชื่อถือกันว่าอาจบันดาลให้ได้สมประสงค์
บางทีเทพอ้วยโท้เป็นบริวารพระกวนอิมโพธิสัตว์ ถ้ารูปกวนอิมโพธิสัตว์มีรูปทหารประคองอาวุธประสานมืออยู่ตรงมุมก็คือรูปเทพอ้วยโท้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นรูปที่จำง่าย
วันเกิดของเทพอ้วยโท้ คือวัน ๓ ค่ำ เดือนที่หก


อ้วยโท้ เป็นแม่ทัพของซี้ไต้เทียนอ๋อง(สี่มหาราช) มีหน้าที่พิทักษ์วิหารในพระพุทธสาสนา หรือถ้าวัดขาดแคลน เมื่ออ้อนวอนบูชา อาจอำนวยความมั่งคั่งให้แก่วัดได้ อ้วยโท้ คำนี้ แผลงมาจากคำ เวโท(เวท)ในสันสกฤต ซึ่งในลัทธิอินเดียรุ่นหลังและทิเบตจัดให้เป็นตัวตน มีหน้าที่เป็นวิหารบาล ตกมาถึงเมืองไทยเราเรียกว่าท้าวมหาชมพูผู้จุลจักรพรรดิ ในเวลาทำพิธีกงเต๊ก ย่อมมีฉากรูปท่านผู้นี้ตั้งด้วยเสมอไป โดยหันหน้าเข้าข้างใน

ในวิหารต้นที่มีซี้ไต้เทียนอ๋องอยู่สองข้างและมีรูปพระศรีอารยอยู่กลางหันหน้าออก ถ้าเราผ่านพ้นห้องวิหารนั้นถึงลานใน จะพบรูปอ้วยโท้หันหน้าเข้าข้างใน ยันกับรูปพระศรีอารย(ดูได้ที่ในวัดมังกรกมลาวาส) เหตุไฉนจึงต้องหันหน้าเข้า น่าจะสันนิษฐานได้ว่า เหตุการณ์ภายหน้าเป็นหน้าที่ของพระศรีอารย ซึ่งเทพอ้วยโท้ไม่มีกิจเกี่ยวข้องด้วย เทพอ้วยโท้คงมีหน้าที่จะป้องกันพระศาสนาและบรรดาภิกษุสงฆ์ให้พ้นภัยเท่านั้น จึ่งได้หันหน้าเข้าข้างใน ตรงไปวิหารกลางซึ่งเป็นตอนสำคัญของวัด

เรื่องราวของเทพอวยโท้มีที่ทราบได้น้อย บรรดาคัมภีร์ต่างๆคงปรากฏชื่ออยู่เพียงในคัมภีร์กิมกวงเม่งเกง(สุวรรณประภาสสูตร คัมภีร์ฝ่ายพุทธตันตระ)เท่านั้น แต่ไปมีประวัติอยู่ในเรื่องซินเซียนทงกัง(รวมเรื่องเทวดาและเซียน มีขายในกรุงเทพฯ)ว่า สมัยหนึ่งพระยู่ไล้อัญเชิญพระพุทธเจ้าไปรับเลี้ยง ณ ลุ่ยอิมกัง(หอรามสูร)แดนไวเทียน(สวรรคสุขาวดี) ตรัสให้อ้วยโท้เจียงกุนมีหน้าที่สำหรับต้อนรับ เทพอ้วยโท้สวมเกราะและหมวกประคองกระบี่ในท่าประณมเมืองเพียงอก เป็นอาการแสดงเคารพเชื้อเชิญผู้แขกมา
ขณะนั้นพระทีปังกรพุทธเจ้าตรัสแนะนำแก่บรรดาพระพุทธเจ้าว่า เทพผู้นี้คืออ้วยโท้เป็นศิษย์ของพระองค์ได้เคยศึกษาพระธรรมมาแต่เยาว์ บัดนี้เป็นแม่ทัพใหญ่ของซี้ไต้เทียนอ๋อง อาจไปสู่ทวีปต่างๆในวันเดียวได้ตั้งสามทวีปและมีอานุภาพหาเขตมิได้ ผู้สบทุกข์ถ้าอ้อนวอนบูชาก็ได้รับความช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นจึงได้นามว่าเทียนจุง ผู้มีเกียรติในสวรรค์ และเป็นผู้กล้าหาญอภิบาลพระพุทธศาสนาในกัลป์นี้ตลอดไปในสามทวีป ซึ่งล้วนมีเสียงแซ่สร้องสรรเสริญในท่านผู้นี้ที่มีการุณยภาพในมนุษย์นิกร เรื่องเทพอ้วยโท้ที่ทราบมีเท่านี้

รูปลักษณะเทพอ้วยโท้สังเกตได้ง่าย เพราะแต่งตัวสวมเกราะและหมวกอย่างทหาร สองมือประคองกระบี่ในท่าประณม บางทีไม่ใช้กระบี่ ใช่กระบองกังปี่มีเหลี่ยมเป็นปล้องๆอย่างงิ้วเล่น อาวุธนี้ใช้ปราบปีศาจหรือมารที่ทำการรังควานสงฆ์ รูปเทพอ้วยโท้ นอกจากมีไว้ในวิหารแรก บางทีถ้าทางเข้าวัดลดเลี้ยว เช่นเป็นทางบนภูเขาก็ตั้งไว้หัวเลี้ยว เพื่อป้องกันภัยแก่สัตบุรุษที่ไปนมัสการบูชาในวัด บางทีที่รูปเทพอ้วยโท้มีเทพธรรมบาลชั้นรองอยู่ด้วย ซึ่งเรียกว่ากาลั้ม อันจะได้เล่าต่อไปสวนหนึ่ง

อนึ่งเทพอ้วยโท้นี้ได้กล่าวว่าอาจอำนวยความมั่งคั่งแก่วัดได้ จึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไรด้วย เช่นเมื่อวัดต้องการเงินปฏิสังขรณ์ที่ชำรุดทรุดโทรม หลวงจีนต้องไปขออนุฐาตจากเจ้าพนักงานประจำตำบลเสียก่อน ได้รับอนุญาตแล้ว จึงจะจัดการเรี่ยไรได้ การอนุญาตเจ้าพนักงานเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรว่าหลวงจีนมีชื่อนี้ๆอยู่วัดนั้นเป็นผู้รับอนุญาตให้เรี่ยไรเงินปฏิสังขรณ์วัดได้ และประทับตราตำแหน่งเจ้าพนักงานผู้อนุญาตพร้อมทั้งปีเดือนวันคืน

หลวงจีนต้องนำใบอนุญาตนั้น ไปให้เจ้าพนักงานโปเทีย(คือนายตำรวจประจำท้องที่ มีตำแหน่งรองตีกุ้ยนายอำเภอ)ขอความอารักขาช่วยเหลือ เมื่อดำเนินการตามระเบียบเสร็จแล้ว ก็เอาศาลเทพอ้วยโท้ขึ้นแบกออกเดินไปยังตำบลที่จะเรี่ยไร ศาลอ้วยโท้นี้เป็นหีบขนาดเล็ก ข้างในเป็นป้ายมีอักษรสมมุติว่าเป็นภาพเทพอ้วยโท้ มีที่สำหรับเสียบธูปและมีอักษรบอกแผ่กุศลเรี่ยไรเงิน

หลวงจีนผู้ไปเรี่ยไร ไม่โกนผม คงปล่อยไว้ให้ยาวแล้วมุ่นขมวดเอาห่วงทองเหลืองรัดไว้(อย่างรูปเต้าหยิน)เมื่อเดินตามทางก็ตีกะโหลกไม้(เรียกว่าบั๊กฮือจะเห็นได้ในเวลาทำพิธีกงเต็ก) ซึ่งคล้องคอไว้ เมื่อประกาศความประสงค์แห่งการเรี่ยไรให้ทราบทั่วกันแล้ว ก็ขอให้เจ้าพนักงานโปเทียพาไปหาผู้มั่งคั่งหรือร้านโรงที่คะเนว่าคงออกเงินเรี่ยไร ผู้ออกเงินมากก็บันทึกชื่อและจำนวนเงินไว้ในทะเบียนพิเศษ ทำด้วยกระดาษเหลืองเรียกว่า รายชื่อผู้มีศรัทธากล้า แล้วรับเงินมอบให้ลูกศิษย์ไว้ในหีบหรือไถ้

ถ้าการเรี่ยไรไม่ได้ผล หลวงจีนก็ปลงศาลเทพอ้วยโท้ลงจากบ่าไปวางไว้ที่หน้าบ้านเจ้าพนักงานโปเทียคนใดคนหนึ่งหรือที่หน้าบ้านผู้มีอันจะกิน แล้วตนเองนั่งขัดสมาธิขอเรี่ยไรคนละเล็กละน้อยจากผู้สัญจรผ่านไปมา หากที่ทำนี้ไม่สำเร็จอีกก็ใช้วิธีใหม่เรียกว่ายืนบนเหล็กแหลมในหีบ คือมีหีบต่อฝาโปร่ง ขนาดสูงกว่าคนยืนนิดหน่อยนำไปตั้งไว้ที่ประชุมชน มีหลวงจีนตนหนึ่งเข้าไปยืนอยู่ในนั้น ซึ่งตรึงตาปูหีบให้แน่นมิให้ออกได้ หลวงจีนที่อยู่ภายนอกก็ป่าวประกาศแก่ประชาชนว่าหลวงจีนที่อยู่ในหีบจะต้องทรมานกายไม่บริโภคข้าวและน้ำ จนกว่าจะได้เงินเรี่ยไรพอกับจำนวนที่กะไว้ เพราะฉะนั้นจึงขอให้ผู้ใจบุญได้กรุณาแก่หลวงจีนที่ต้องทรมานเพราะเห็นแก่ศาสนาและเพื่อให้มหาชนมีความสงสารยิ่งขึ้นก็บอกด้วยว่าหลวงจีนที่อยู่ในหีบยืนเหยียบบนปลายเหล็กแหลม

อีกอย่างหนึ่งถ้าวัดขาดแคลนจตุปัจจัยก็มักมีพิธีพิเศษอ้อนวอนเทพอ้วยโท้ เชื่อถือกันว่าอาจบันดาลให้ได้สมประสงค์

บางทีเทพอ้วยโท้เป็นบริวารพระกวนอิมโพธิสัตว์ ถ้ารูปกวนอิมโพธิสัตว์มีรูปทหารประคองอาวุธประสานมืออยู่ตรงมุมก็คือรูปเทพอ้วยโท้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นรูปที่จำง่าย
วันเกิดของเทพอ้วยโท้ คือวัน ๓ ค่ำ เดือนที่หก

วันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

สามก๊ก (จิตกรรมฝาผนังวัดโอกาสบัวบาน อ.เมือง จ.นครพนม)





เตียนอุยเป็น ชาวตำบลอี่อู๋ เมืองเฉินหลิว(ตัวลิว) มีความซื่อสัตย์ กตัญญูรู้คุณ ต่อผู้มีพระคุณ ซึ่งในขณะนั้น โจโฉได้เป็นมหาอุปราช แห่งภาคบูรพาของมหาอาณาจักรจีน ณ เมืองกุนจิ๋ว ในขณะนั้นก็มีหัวหน้ากองโจรมาสวามิภักดิ์ต่อโจโฉ หัวหน้าโจรนั้นก็คือ อิกิ๋ม ต่อมาอิกิ๋ม ก็ได้เป็นถึงแม่ทัพเรือของโจโฉ อิกิ๋มได้รายงานต่อโจโฉว่า“ในหมู่สหายร่วมตายของข้า ในขณะที่ข้ายังท่องป่าอยู่นั้น ได้พบชายผู้หนึ่งมีนามว่า เตียนอุย ตีเสือดุตัวหนึ่งตาย ข้าเห็นว่ากำลังกล้าแข็งนัก จึงคบไว้เป็นเพื่อนร่วมใจ” โจโฉ จึงถามอิกิ๋มว่า“แล้วผู้ใดเล่าคือเตียนอุย” อิกิ๋มจึงชี้ไปยังชายร่างใหญ่ซึ่งรูปร่างสูงที่สุดในหมู่โจร โจโฉ จึงเรียกเตียนอุยเข้ามาคุยด้วย แล้วถาม เตียนอุยว่า“ท่านชอบอาวุธสิ่งใดเล่า” เตียนอุยตอบว่า “ข้าพเจ้าฝึกไว้จนคล่องแคล่วในการใช้หอกสองมือและหอกแต่ละมือหนักแปดสิบชั่ง” โจโฉจึงถามว่า“ไฉนเราจะได้ชมฝีมือหอกของท่านเล่า” เตียนอุยจึงแสดงฝีมือให้โจโฉ ดู โจโฉเห็นดังนั้น จึงสรรเสริญเตียนอุยว่าทรงพลังเป็นอันมาก โจโฉจึงมอบตำแหน่งองครักษ์ให้กับเตียนอุยทันที ในขณะที่โจโฉยาตราทัพ เพื่อจะปราบลิโป้ เตียนอุยก็เข้าร่วมเป็นร่วมตายปราบลิโป้ด้วยกับโจโฉด้วย จนโจโฉยังไม่สามารถปราบลิโป้ได้ จึงต้องใช้อ้วนเสียเป็นจุดยุทธศาสตร์เพื่อจะได้ยกทัพสะดวกๆเพื่อเข้าตีลิโป้ โจโฉจึงตัดสินใจยกทัพเหยียบอ้วนเสีย เตียวสิ้วเจ้าเมืองอ้วนเสียเห็นว่า กำลังตัวเองน้อยกว่าฝ่ายโจโฉ จึงยอมสวามิภักดิ์ ต่อโจโฉโดยดี เตียวสิ้วพยายามที่จะทำให้โจโฉลืมกลิ่นไอสงคราม โดยการส่งนางบำเรอให้โจโฉทุกๆวัน วันหนึ่งโจโฉถามคนรับใช้ว่าในเมืองนี้เห็นหญิงงามผ่านตาบ้างหรือเปล่า คนรับใช้จึงตอบว่า ข้าเพิ่งเห็นมาหยกนางงามวิลาส เป็นภรรยาของเตียวเจ้ ซึ่งเป็นอาของเตียวสิ้ว ตัวเตียวเจ้นั้นตายแล้ว หญิงงามผู้นี้จึงตกเป็นม่าย โดยมีเตียวสิ้วเลี้ยงดูเป็นอาสะใภ้ โจโฉจึงส่งโจอันบิ๋นหลานชายไปเชิญมา มาที่พำนักของโจโฉในเวลาค่ำคืน เตียนอุยทหารองครักษ์ก็ยัง ทำหน้าที่ตามเดิมอยู่ ระแวดระวังหน้าประตูกระโจมของโจโฉ ทำให้เตียวสิ้วนั้นแค้นมาก เพราะดูหมิ่นเกียรติยศของวงศ์ตระกูล ตั้งแต่แรกเตียวสิ้วไม่เคยคิดจะสู้กับโจโฉเลย แต่ด้วยเหตุผลนี้ทำให้เตียวสิ้ว คิดสู้เพื่อวงศ์ตระกูล

เตียวสิ้วได้วางแผนกับกาเซี่ยงมาเป็นอย่างดี โดยการนำชายฉกรรจ์เมืองอ้วนเสียมาเป็นทหารแล้วล้อมกระโจมโจโฉเอาไว้ แต่แผนการของเตียวสิ้วต้องหยุดชะงักเพราะเตียนอุยนี่เอง เพราะเตียนอุยเฝ้าหน้ากระโจมของโจโฉทั้งวันทั้งคืนจึงหาโอกาสโจมตีได้ยาก แต่ทหารคนสนิทของเตียวสิ้วผู้หนึ่งชื่อ ว่า เฮาเฉีย เข้ามาแนะนำแก่เตียวสิ้วว่าตนเองแบกเหล็กได้ถึง ๕๐๐ ชั่ง ทั้งวิ่งได้อย่างรวดเร็ว และถ้าคิดอ่านขโมยหอกของเตียนอุยมาก็จะทำการได้โดยง่าย เฮาเฉียจึงแนะนำว่าให้หาเหตุเชิญเตียนอุยมาเลี้ยงสักมื้อจัดสุราที่แรงที่สุดมอมเตียนอุยซ่ะ เมื่อถึงเวลาทำการ เตียวสิ้วจึงเชิญเตียนอุยมาแล้วมอมเหล้า ส่วนเฮาเฉียก็ ลักหอกประจำตัวของเตียนอุยมา และนำทหารบุกเข้ามาที่กระโจมโจโฉ

เมื่อเตียนอุยสร่างเมาได้สติไม่พบอาวุธคู่มือของตน ส่วนที่พักของโจโฉถูกไฟเผาลุกไหม้ ระหว่างชุลมุนโจโฉหลบหนีออกทางด้านหลัง พร้อมกับทหารแค่ไม่กี่คน เตียนอุยไม่รู้ว่าโจโฉหนีไปแล้ว จึงตัดสินใจยืนเฝ้าขัดขวางทหารข้าศึกอยู่ที่หน้าค่ายพัก โดยแย่งชิงอาวุธจากทหารของเตียวสิ้วที่กรูเข้ามา เตียนอุยยืนหยัดสู้จนแทบไม่มีเรี่ยวแรง แต่ก็สังหารทหารของเตียวสิ้วไปได้เป็นจำนวนมาก เมื่อไร้อาวุธจะต่อสู้ข้าศึกแล้ว เหลือเพียงซากศพของทหารที่เขาสังหารไปอยู่รายล้อม จึงใช้สองมือจับเอาศพเหล่านั้นมาแทนทวนคู่ ไล่จัดการเหล่าศึกต่อเนื่อง

ฝ่ายทหารของเตียวสิ้วได้ระดมยิงเกาทัณฑ์เข้าใส่เตียนอุย เตียนอุยแม้จะถูกเกาทัณฑ์ยิงใส่เสียบทะลุร่าง แต่เขาก็ยังยืนหยัดสู้และเฝ้าขวางทางอยู่เช่นนั้น จนกระทั่งถูกทหารของเตียวสิ้วเอาทวนแทงรุมแทงเข้าใส่จนขาดใจตาย 

และแผนการของเตียวสิ้วก็สำเร็จ และสามารถสังหารชายร่างยักษ์อย่างเตียนอุยลงได้ แต่บุญของโจโฉยังไม่สิ้น ยังหนีไปได้ สิ่งที่โจโฉทำสิ่งแรกหลังได้กำลังช่วยเหลือคือ จัดงานศพให้กับเตียนอุยอย่างสมศักดิ์ศรี แล้วต่อมาโจโฉจึงค่อยคิดอ่านตีเตียวสิ้วแตกในที่สุด นับว่าเป็นการเสียครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของโจโฉก็ว่าได้ ดั่งที่โจโฉพูดว่า“เสียโจอันบิ๋นหลานชายของข้า ข้ายังไม่เสียดายเท่าเสียทหารเอก อย่างเตียนอุยไปเลย”




กองทัพพันธมิตร ๑๘ หัวเมืองยกให้อ้วนเสี้ยวเป็นผู้นำกองทัพ ซึ่งเล่าปี่ กวน และเตียหุยก็ได้ไปในกองทัพครั้งนี้ด้วย โดยเล่าปี่เป็นทหารในสังกัดของกองซุนจ้าน ส่วนกวนอูเป็นนายทหารม้ามือธนู อ้วนเสี้ยวส่งซุนเกี๋ยนเข้าโจมตีตั๋งโต๊ะ แต่ก็แพ้กลับมา เพราะอ้วนสุดไม่ยอมส่งเสบียงไปให้กองทัพเขา ฮัวหยงแม่ทัพซ้ายของตั๋รโต๊ะได้เข้ามาท้ารบและฆ่าแม่ทัพของฝ่ายพันธมิตรตายลงไปคนแล้วคนเล่า 

ในที่สุดกวนอูจึงขออาสาไปต่อสู้กับฮัวหยง ในชั้นแรกอ้วนเสี้ยวโกรธมากที่กวนอูเป็นเพียงทหารม้ามือธนู กลับกำแหงจะไปรบกับแม่ทัพอย่างฮัวหยง แต่โจโฉห้ามไว้ และให้กวนอูออกไปสู้กับฮัวหยง ปรากฏว่ากวนอูสามารถปลิดชีพฮัวหยงได้ในกระบวนท่าเดียวเท่านั้น

และแล้วลิโป้ก็ออกมาสู้รบเอง ขุนศึกฝ่ายพันธมิตรพ่ายแพ้คนแล้วคนเล่า เตียวหุยน้องคนเล็กก็ได้อาสาออกไปรบกับลิโป้ เมื่อรบกันได้สี่สิบเพลง กวนอูก็เข้าไปช่วย และเมื่อรบกันอีกสักพักเล่าปี่ก็เข้าไปร่วมวงด้วย ปรากฏว่าลิโป้ ซึ่งได้ชื่อว่าไม่เคยแพ้ใครถึงกับต้องถอยกลับไปเป็นครั้งแรกในชีวิต ซึ่งทำให้สามพี่น้องร่วมสาบานมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่ว กวนอูเองก็ได้การสรรเสริญว่ามีฝีมือไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าลิโป้ ผู้ซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นเทพนักรบเลย




กวนอู ถือเป็นแบบอย่างที่ดีของความซื่อสัตย์ ด้วยความห้าวหาญของเขา จึงทำให้โจโฉนิยมชมชอบจนถึงขั้นเชื้อเชิญและพยายามทำทุกวิถีทางที่จะเอากวนอูมาเป็นพวก แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะใจของกวนอูได้ มีอยู่ครั้งหนึ่งที่กวนอูหลงกลอุบายที่โจโฉยุให้กวนอูออกรบแล้วล้อมจับไว้ จากนั้นจึงให้ทหารลอบเข้าไปจับตัวภรรยาของเล่าปี่มาเป็นตัวประกัน แล้วขู่บังคับให้กวนอูยอมจำนน กวนอูซึ่งเป็นห่วงในตัวพี่สะใภ้ จึงต้องยอมแต่โดยดี แต่ก็มีข้อแม้ไว้ 3 ข้อ คือ 

หนึ่ง กวนอูเป็นข้าในพระเจ้าเหี้ยนเต้ ไม่ใช่ข้าของโจโฉ
สอง ห้ามไม่ให้ทำร้ายพี่สะใภ้ของกวนอูอย่างเด็ดขาด
สาม ถ้าพบว่าเล่าปี่ยังมีชีวิตอยู่ กวนอูจะไปหาทันที และห้ามรั้งไว้

ในสามข้อนี้ มีข้อสุดท้ายข้อเดียวที่โจโฉแบ่งรับแบ่งสู้ แต่ด้วยความเจ้าเล่ห์จึงรับไว้ก่อน จากนั้นก็ให้กวนอูพักอยู่บ้านหลังเดียวกับพี่สะใภ้ เพื่อต้องการให้เกิดความใกล้ชิดกันจนถึงขั้นมีสัมพันธ์ชู้สาว แต่กวนอูรู้ทันจึงไม่ยอมอยู่ในบ้าน แต่กลับนั่งเฝ้าที่หน้าประตูทุกคืน

ต่อมาเมื่อโจโฉเห็นว่าแผนนี้ใช้ไม่ได้ผล จึงใช้แผนมอบสิ่งของ โดยการให้เสื้อกันหนาวตัวใหม่แก่กวนอู ในครั้งนี้กวนอูรับเสื้อไว้ แต่ก็ไม่ได้ถอดเสื้อตัวเก่าที่เล่าปี่เคยมอบให้ และกลับเอาเสื้อตัวใหม่ที่ได้รับใส่ข้างใน แล้วเอาตัวเก่าใส่ไว้ข้างนอก โดยให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นการรำลึกถึงเล่าปี่

ต่อมาโจโฉให้ม้าเช็กเธาว์ ซึ่งกวนอูแสดงอาการดีใจมาก โจโฉจึงถามสาเหตุของความดีใจครั้งนี้ และก็ได้รับคำตอบว่า “ม้าตัวนี้มีฝีเท้าดี วิ่งได้ในระยะทางไกลไกลโดยไม่ต้องพัก ดังนั้นเมื่อทราบว่าเล่าปี่อยู่ที่ใด ตนก็สามารถไปหาได้ทันที” โจโฉตัดพ้อว่าทำไมกวนอูจึงไม่ยอมตัดใจจากก๊กของเล่าปี่ กวนอูจึงตอบไปว่า จริงอยู่ที่โจโฉมีบุญคุณ แต่กวนอูได้กระทำสัตย์สาบานไว้เมื่อครั้งพี่น้องทั้งสามพบกัน ว่าจะร่วมเป็นร่วมตายด้วยกัน แต่ก่อนที่จะจากไปกวนอูจะตอบแทนบุญคุณให้โจโฉอย่างแน่นอน




เตียวเสียนเป็นหญิงรับใช้ที่พ่อแม่ตายแต่ยังเล็ก ได้อ้องอุ้นรับมาชุบเลี้ยง ปรากฏตัวครั้งแรกเมื่ออายุ ๑๖ ปี ยามที่อ้องอุ้นถอดถอนหายใจด้วยห่วงใยในสถานการณ์บ้านเมืองยามดึก แล้วออกมาพบเตียวเสียนนั่งร้องไห้กับเดือนอยู่ อ้องอุ้นถามว่า นังหนู ร้องไห้ด้วยเหตุใด อกหักเพราะความรักล่ะสิ เตียวเสียนตอบว่า มิได้ นางร้องไห้เพราะสงสารอ้องอุ้นที่เหมือนบิดาตนกลุ้มใจ เมื่ออ้องอุ้นได้เห็นโฉมหน้าของเตียวเสียนอย่างชัดเจนแล้วจึงอุทานว่า แผ่นดินมีคนมาช่วยแล้ว

อ้องอุ้นวางแผนให้เตียวเสียนใช้มารยาหญิง ทำให้ตั๋งโต๊ะและลิโป้แตกคอกันจนฆ่ากันเองในที่สุด โดยจะยกให้แก่ลิโป้ก่อน แล้วจึงยกให้ตั๋งโต๊ะ ซึ่งสุดท้ายทุกอย่างก็เป็นไปตามแผนที่อ้องอุ้นวางไว้ทุกประการ และหลังจากตอนนี้แล้ว เตียวเสียนก็ไปเป็นภรรยาคนที่สองของลิโป้ แต่การตายของเตียวเสียนก็ไม่ปรากฏแน่ชัด ในปัจจุบันมีการวิเคราะห์ว่า เตียวเสี้ยนแตกต่างจากหญิงงามอีกสามคนในจำนวนหญิงงามสี่แผ่นดินของจีน เนื่องจากไม่ได้รับการยืนยันว่ามีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ อาจเป็นเพียงหญิงรับใช้ของตั๋งโต๊ะที่มีความสัมพันธ์กับลิโป้ ซึ่งเป็นขุนศึกของตั๋งโต๊ะเท่านั้น






โจโฉเห็นม้าที่กวนอูขี่ผ่ายผอมเพราะทานน้ำหนักกวนอูไม่ไหวจึงมอบม้าเซ็กเธาว์ของลิโป้ให้ สร้างความดีใจให้กวนอูเป็นอย่างยิ่งจนถึงกับคุกเข่าคำนับโจโฉหลายครั้งจนโจโฉสงสัยถามว่า"เราให้ทองสิ่งของแก่ท่านมาเป็นอันมากก็ไม่ยินดี ท่านไม่ว่าชอบใจและมีความยินดีเหมือนเราให้ม้าตัวนี้ เหตุไฉนท่านจึงรักม้าอันเป็นสัตว์เดียรัจฉานมากกว่าทรัพย์สินอีกเล่า" กวนอูจึงตอบด้วยเหตุผลว่า "ข้าพเจ้าแจ้งว่าม้าเซ็กเธาว์ตัวนี้มีกำลังมาก เดินทางได้วันละหมื่นเส้น แม้ข้าพเจ้ารู้ข่าวว่าเล่าปี่อยู่ที่ใด ถึงมาตรว่าไกลก็จะไปหาได้โดยเร็ว เหตุฉะนี้ข้าพเจ้าจึงมีความยินดี ขอบคุณมหาอุปราชมากกว่าให้สิ่งของทั้งปวง"



ฝ่ายลิโป้อยู่ ณ เมืองชีจิ๋ว มีความสุขกายสบายใจ จนกระทั่งจับสายลับของเล่าปี่ซึ่งส่งไปหาโจโฉ ได้ความว่า เล่าปี่ร่วมมือกับโจโฉจะกำจัดลิโป้ ลิโป้โกรธเป็นอันมากจึงสั่งกองทัพชีจิ๋วยกไปตีเมืองเสียวพ่ายของเล่าปี่ทันที เล่าปี่ทราบข่าว ขอกำลังจากกองทัพโจโฉมาช่วย โจโฉให้แฮหัวตุ้นเป็นแม่ทัพหน้ายกมาช่วยแต่แฮหัวตุ้นพลาดท่า ถูกทำร้ายจนดวงตาบาดเจ็บ ทำให้ไม่สามารถยกมาช่วยเล่าปี่ได้ เมืองเสียวพ่ายต้านไม่ไหว เสียให้ลิโป้ เล่าปี่หนีไปหาโจโฉอีกครั้ง โจโฉจึงให้ยกกองทัพใหญ่โจมตีเมืองชีจิ๋ว ให้ตันเต๋งไส้ศึกเริ่มทำงานลวงลิโป้ออกจากเมืองชีจิ๋วและยึดเมืองเสีย ลิโป้ทราบแค้นแทบกระอักเลือด ถอยไปตั้ง ณ เมืองแห้ฝือ ทหารโจโฉล้อมเมืองไว้และให้ทหารเล่าปี่ตั้งทัพสกัดเส้นทางระหว่างลิโป้กับอ้วนสุด ป้องกันไม่ให้ลิโป้ติดต่อกับอ้วนสุดได้ กองทัพโจโฉล้อมเมืองแห้ฝือหลายเดือนอีกทั้งปล่อยน้ำจากเขื่อนทำลายเมือง เสบียงอาหารขาดแคลนเป็นอันมาก สุดท้ายลิโป้ถูกนายทหารชิงม้าเช็กเทาไปให้โจโฉ ลิโป้หมดกำลังใจรบ โจโฉให้ทหารเข้าตีเมือง เมืองจึงแตก ลิโป้ และนายทหารถูกจับได้ ลิโป้ถูกตัดสินให้ประหาร ลิโป้ขอให้เล่าปี่ช่วย แต่เล่าปี่มิใยดี ลิโป้จึงถูกประหารชีวิต เตียวเลี้ยวนายทหารลิโป้ได้กวนอูช่วยรับรองถึงความซื่อสัตย์จึงกลายเป็นทหารเอกของโจโฉในเวลาต่อมา




ซุนฮูหยิน หรือเดิมชื่อ ซุนซ่างเซียง ทรงเป็นพระราชธิดาองค์เดียวของซุนเกี๋ยนและนางง่อก๊กไท่ เป็นพระราชกนิษฐาต่างพระมารดาของซุนกวน เมื่อยังทรงพระเยาว์ชอบฝึกฝนอาวุธ เป็นลูกสาวที่ง่อก๊กไท่ไทเฮารักมาก

เมื่อจิวยี่คิดยึดเมืองเกงจิ๋ว ได้คิดอุบายลวงเล่าปี่มาแต่งงานกับซุนฮูหยินและจับเล่าปี่เป็นตัวประกันแลกกับเกงจิ๋ว แต่ขงเบ้งแก้ลำจิวยี่ได้ เล่าปี่จึงได้นางซุนฮูหยินนเป็นภรรยา ตัวเล่าปี่เองก็ไม่ต้องถูกจับ เกงจิ๋วก็ปลอดภัย ทั้งจิวยี่ก็กระอักเลือดด้วยความแค้นจนสลบไป

ต่อมา เล่าปี่ไปตีเสฉวนโดยทิ้งนางซุนฮูหยินไว้ที่เกงจิ๋ว ซุนกวนใช้จิวเสี้ยนไปลวงนางซุนฮูหยินว่าแม่ป่วยหนักมาก ให้กลับกังตั๋งไปเยี่ยมแม่และให้เอาอาเต๊าบุตรชายของเล่าปี่ไปด้วย ซุนฮูหยินจึงพาอาเต๊าขึ้นเรือไปกังตั๋ง แต่จูล่งและเตียวหุยมานำตัวอาเต๊าคืน นางซุนฮูหยินจึงเดินทางไปกังตั๋งเพียงผู้เดียว ต่อมาจึงรู้ภายหลังว่าถูกหลอก พระเจ้าซุนกวนได้สั่งให้กักตัวนางไว้

ต่อมาพระเจ้าเล่าปี่สวรรคต พระนางซุนฮูหยินรู้ข่าวจึงเสียพระทัยเป็นอันมาก พระนางจึงกระโดดน้ำสิ้นพระชนม์ตามพระเจ้าเล่าปี่ไป


วันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

รามเกียรติ์ (จิตกรรมฝาผนังวัดโอกาสบัวบาน อ.เมือง จ.นครพนม)





นิลพัท

ทหารวานรกายสีดำเหลื่อม ยามเนรมิตร่างมีสี่พักตร์ แปดกรเหมือนกับหนุมาน เดิมเป็นลูกพระกาฬ พระอิศวรประทานมาให้ท้าวมหาชมพูกับนางแก้วอุดรมเหสีไร้ราชบุตรีแลโอรส มีแต่สนมยศบริวาร จึงมีฐานะเป็นโอรสเจ้าเมือง แต่งกายตามอย่างกษัตริย์ แต่ไม่สวมมงกุฎ ถือพระขรรค์เป็นอาวุธ

ศึกลงกาครั้งหลัง ท้าวจักรวรรดิจับพิเภกเจ้ากรุงลงกาองค์ใหม่จำตรุและให้ไพนาสุริยวงศ์ลูกตนสุดท้องของนางมณโฑและทศกัณฐ์ขึ้นครองแทน พระรามให้พระพรตและสตรุตสองอนุชาไปปราบเข็ญ ตอนนี้เองที่พญาวานรทั้งน้อยใหญ่ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ไปครองนครต่างๆเป็นบำเหน็จในงานสงครามครั้งที่แล้วได้ยกกำลังพลของตนมาประชุมพร้อมกันที่นครขีดขิน ในงานสงครามครั้งนี้นิลพัทได้มีบทบาทสำคัญๆอยู่เป็นอันมาก ดังได้แจ้งแจ้งอยู่ในรายงานความดีความชอบตอนปูนบำเหน็จเมื่อเสร็จศึกแล้วว่า

อันนิลพัทฤทธิรณ คุมพลชมพูชาญสมร ได้ทอดตนเป็นถนนในสาคร ให้ข้ามนิกรโยธี แล้วไปเก็บซึ่งโอสถ มาบดแก้พระสีตรุดเรืองศรี ทั้งผลาญมารกระบิลอสุรี สุดสิ้นชีวีแหลกลาญ เมื่อเหราพัดพาพระองค์ไป ก็ติดตามชิงชัยหักหาญ ทั้งไปล้างพิธีถึงบาดาล แล้วฆ่าไวยตาลมรณา ความชอบได้ทำเป็นสาหัศ พระรามจึงประทานศักดิ์ให้เป็นพญาอภัยพัทวงศ์ ตำแหน่งอุปราชกรุงชมพู และยังได้ให้มหามงกุฎทับทิมพราย สร้อยสนตาบทิศทับทรวง สังวาลแก้วรุ้งร่วงสามสาย พานพระศรีเต้าน้ำจำหลักลาย ธำมรงค์เพ็ชร์พรายเรืองสุบรรณ์




“หลังจากกุมภกรรณเข้าใจว่าพระลักษมณ์สิ้นชีพด้วยหอกโมกขศักดิ์ของตน กลับไปแจ้งแก่ทศกัณฐ์ ต่อมากองคอยเหตุของทศกัณฐ์กลับไปรายงานว่าพระลักษมณ์ฟื้นขึ้นได้ กุมภกรรณแค้นใจยิ่งนัก รู้ว่าพิเภกช่วยแก้กลจึงทูลลาไปทำพิธีทดน้ำมิให้ไหลไปทางพลับพลาพระราม หวังให้ไพร่พล อดน้ำตาย

พิเภกจับยามรู้ความ จึงทูลแนะให้พระรามส่งหนุมานไปหาทางทำลายพิธีอีก หนุมานรับอุบายแปลงกายเป็นเหยี่ยว ไปเที่ยวหาตัวนางกำนัลของกุมภกรรณที่มีหน้าที่ส่งดอกไม้ฆ่าเสีย แล้วปลอมเป็นนางนั้นลอบเข้าไปถึงพิธีมณฑลแล้วจึงกลับรูปดังเดิมเข้าต่อสู้กัน กุมภกรรณเสียทีเหาะหนีกลับไป

รุ่งขึ้นกุมภกรรณคุมพลออกรบกับพระรามถูกศรพรหมาสตร์ต้องอกล้มลง ก่อนสิ้นชีพแลเห็นพระรามเป็นองค์นารายณ์สำนึกผิดทูลขออภัยสั่งเสียพิเภกด้วยดี พระรามก็ทรงอโหสิให้”




ทรพี

เมื่อควายทรพีชัยต่อทรพาพ่อของตนแล้ว ก็กำเริบฤทธิ์ ออกจากฝูงเที่ยวลำพองไปจนถึงเขาหิมาลัย แล้วร้องว่าเหวยเทวา ใครมีศักดามาสู้กัน เทวดาที่นั่นไม่อยากรบด้วย เพราะกลัวแพ้ จึงบอกปัดให้ไปหาคู่รบเอาที่เขาเบญจกูฏ เทวดาทั้งห้าที่นั่นก็บอกปัดให้ไปสู้กับพระสมุทร และบอกหนทางให้ ข้างพระสมุทรก็รังเกียจที่จะสู้รบกับเดรัจฉาน จึงบอกปัดให้รบกับเทวดาใหญ่ที่เขาไกรลาศ ทรพีก็ไปจริงเหมือนกัน และไปร้องท้าพระอิศวรอยู่ลั่นๆ ข้างพระอิศวรก็ว่า มึงจะสู้กูไม่คู่พักตร์ แม้นรักจะใคร่ราวี เองจงรีบไปยุทธยง ด้วยพาลีลูกองค์โกษีย์ ให้มึงสิ้นชีพชีวี ด้วยฤทธีพระยาวานร แล้วจงไปเอากำเนิดยังเกิดเป็นบุตร์พระยาขร ชื่อมังกรกรรฐ์ฤทธิรอน ให้ตายด้วยศรพระจักรา

ฝ่ายทรพี ครั้นต้องคำสาปเจ้าโลกา เผอิญให้โมหาบ้าใจ จึงตรงไปยังเมืองขีดขินทันที อาละวาดขวิดสวนดอกไม้และสมุนกบี่ของพาลีแหลกลาญ แล้วบุกเข้าไปจนถึงหน้าพระลานไชย และร้องท้าพาลีให้มารบกัน พาลีรบกับทรพีกลางแปลง แต่เช้าถึงเย็น ยังไม่ได้ท่า ก็ชวนให้ไปรบกันในถ้ำ ด้วยเห็นว่าเป็นที่แคบพอจะฆ่าได้สะดวก รุ่งขึ้นพาลีไปที่ถ้ำ แลเห็นทรพียืนคอยอยู่ปากถ้ำแล้ว ก็เรียกไปรบกันในถ้ำ รบกันอยู่ถึงเจ็ดวันก็ยังไม่ได้ชนะ ก็นึกรู้ว่าคงมีเทวดารักษา จึงอุบายถามว่าเทวดาองค์ไหนช่วยให้มีฤทธิ์ ทรพีตอบด้วยความลบหลู่ว่า เทวันองค์ใดไม่สิงสู่ ตัวกูมีฤทธิ์ด้วยสองเขา พาลีจึงประกาศแก่เทวดาว่า ทรพีไม่รู้จักคุณเทวดา เสียทีที่ท่านเลี้ยงดู อย่าอยู่รักษาอ้ายอาธรรม์ เชิญไปสู่ทิพพิมาน สำราญด้วยนางสาวสวรรค์ ฟังเราว่าเถิดนะเทวัน จงชวนกันออกจากกายา เทวดาทั้งหกนั้นก็เห็นจริง จึงออกจากกายทรพีสำแดงตนให้พาลีเห็นเป็นรัศมีสว่างทั้งคูหา เมื่อเข้ารบกันอีกที ทรพีจึงล้มลึกคลุกคลานไม่ต้านติด จะต่อฤทธิ์วานรก็ไม่ได้ กำลังน้อยถอยทดสลดใจ เลือดไหลหยดย้อยทั้งกายา เมื่อได้ทีพาลีก็โผนเข้า เหยียบเขาพระยาทรพี มือซ้ายง้างเขายันยัน กรขวาแกว่งพระขรรค์ไชยศรี ฟาดด้วยกำลังฤทธี ทรพีก็ม้วยบรรลัย และโดนพาลีตัดเอาหัวขึ้นใส่บ่าแบกออกไปจากที่รบ

ทรพีตายแล้วก็ได้รับผลตามคำสาปของพระอิศวรทุกประการ ไปเกิดเป็นลูกพญาขร น้องทศกัณฐ์ งรัชฎาสูรแห่งกรุงโรมคัล ชื่อมังกรกัณฐ์ ซึ่งใจนั้นแกล้วกล้าสาฬส สมศักดิ์สมศรีสมยศ และมีน้องชื่อแสงอาทิตย์ ภายหลังตายด้วยศรพระรามในที่รบ เมื่อออกไปขัดตาทัพตามคำของทศกัณฐ์ เพื่อให้อินทรชิตทำพิธีชฐศรนาคบาศ




หนุมาน

เมื่อเสร็จศึกลงกาและทวยหาญทั้งน้อยใหญ่ได้รับบำเหน็จณรงค์กัน หนุมานได้สมญาศักดิ์เป็นพญาอนุชิตจักรกฤษณพิพรรธพงศา และได้ผ่านกรุงอยุธยาตามที่พระรามได้ประกาศวาจาไว้ แต่ทว่า ขึ้นนั่งยังที่บัลลังก์รัตน์ ภายใต้เศวตฉัตร์ฉายฉัน ได้เร่าร้อนฤทัยดังไฟกัลป์ ตัวสั่นหน้าซีดลงทันที พ่างเพียงเศียรกล้าจะทำลาย เสโทซึมกายกบี่ศรี เหลือบแลไปดูหมู่เสนี ดังมีศรแสงมาแทงตา... จึงไม่เป็นอันได้ว่าราชกิจ แล้วก็แจ้งด้วยปรีชาอันส่องไว กูเป็นทหารมาร่วมอาศน์ พระนารายณ์พิราชหาควรไม่ จึงบังเกิดเหตุเภทภัย ด้วยศักดิ์ศรีมิได้ มาตร์แม้นจะนั่งอยู่ช้า น่าที่ชีวาจะอาสัญ... ร้อนถึงต้องทูลขอเมืองใหม่ พระรามแผลงศรให้พญาอนุชิตตามไป ตกที่ไหนให้กลับไปทูล จะได้เสด็จยกพลบไปกำหนดเขตสร้างเมืองให้เป็นเกียรติยศ ครั้นศรตกที่เขาเก้ายอด(นพคีรี)และทำลายเขาทั้งเก้านั้นเตียนราบลงหมด พญาอนุชิตก็ลงไปเอาหางกวาดให้เป็นกำแพงกั้นเขตแดนไปทั่วทิศ แล้วกลับไปทูล พระรามตรัสว่าเมื่อกำหนดเขตแดนเสียเองแล้วก็ไม่จำเป็นที่จะเสด็จไปทำอะไรอีก จึงเพียงแต่ขนานนามเมืองให้ว่านพบุรีตามนิมิตแห่งภูเขาเก้ายอด และแบ่งราชสมบัติกึ่งหนึ่งแก่พญาอนุชิต




หนุมานจองถนน

ฝ่ายพระรามคิดจะปราบเหล่ายักษ์ให้เสร็จสิ้นไปโดยเร็ว ชามพูวราช ได้ทูลว่า การที่พระรามจะข้ามไปลงกาด้วยฤทธิ์อำนาจที่เหล่าทหารขันอาสานั้นย่อมทำได้ แต่จะทำให้เสียพระเกียรติยศ ควรจะให้ไพร่พลนำเอาหินไปทิ้งเพื่อสร้างถนนในมหาสมุทร พระรามจึงสั่งให้สุครีพพาไพร่พลไปเร่งสร้างถนน โดยให้นิลพัทควบคุมไพร่พลเมืองชมพู หนุมานควบคุมไพร่พลเมืองขีดขิน นิลพัทนั้นแค้นหนุมานมาแต่เดิมแล้ว ได้โอกาสล้างแค้นจึงแสดงฤทธิ์ เอาเท้าคีบเขาหิมวันต์ สองมือชูเขาคิรินทร เหาะมาแล้วบอกให้หนุมานคอยรับ นิลพัทจึงทิ้งภูเขาลงมาทั้งสองลูกหวังให้ถูกหนุมาน แต่หนุมานรับไว้ได้ จึงคิดแก้ลำบ้าง โดยไปหักยอดเขา และนำหินก้อนมหึมาผูกตามขน แล้วให้นิลพัทรับบ้าง นิลพัทเห็นจึงขอให้หนุมานโยนมาทีละก้อน หนุมานว่า ทีนิลพัทแกล้งทิ้งมาพร้อมกันหวังให้ตาย แล้วทิ้งหินทั้งหมดลง นิลพัทใช้มือและเท้ารับไว้ได้ หนุมานหาว่านิลพัทสบประมาทตน และได้ท้าวความถึงท้าวชมพูที่มีฤทธิ์มาก ตนยังจับมาได้ นับประสาอะไรกับนิลพัท

นิลพัทโกรธท้าหนุมานต่อสู้ดังกึกก้อง พระรามได้ยินคิดว่าเหล่าลิงรบกับยักษ์ ให้พระลักษมณ์ไปดู แล้วจึงพาสุครีพ หนุมาน และนิลพัท เฝ้าพระราม พระรามโกรธ สุครีพจึงทูลแก่พระรามว่า ควรจะแยกทั้งคู่ให้ห่างกัน โดยให้หนุมานอยู่กับพระราม ส่วนนิลพัทให้กลับไปช่วยท้าวชมพูดูแลเมืองขีดขิน ทำหน้าที่ส่งเสบียงให้กองทัพเดือนละครั้ง ถ้าขาดราชการจะประหารเสีย ฝ่ายพระรามได้สั่งให้หนุมานจองถนนไปกรุงลงกาเสร็จภายในเจ็ดวัน หากไม่เสร็จจะประหารชีวิต

ทศกรรฐ์รู้ข่าวการจองถนน คิดถึงภัยข้างหน้า จึงให้นางสุพรรณมัจฉาบุตรี นำเหล่าบริวารปลาขนหินไปทิ้งกลางทะเลลึกไม่ให้ถนนเสร็จได้ จนเป็นที่ผิดสังเกตของสุครีพว่า ทิ้งหินลงไปมาก แต่ยุบหายไปหมด ให้หนุมานลงไปดูก็พบนางสุพรรณมัจฉาและได้นางเป็นเมีย นางจึงช่วยขนหินกลับมาตามเดิม ถนนจึงเสร็จ



“ปั้นน้ำเป็นตัว”



สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ น้ำแข็งเป็นของหายาก ต้องนำเข้ามาจากสิงคโปร์ เรือกลไฟขื่อ“เจ้าพระยา” ผู้มีสิทธิ์จะได้ลิ้มรสน้ำแข็ง มีเฉพาะคนในวังเท่านั้น โดยได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ ๔ คนได้ชิมจะตื่นเต้นมาก พากันโจษขานกันว่า นายเลิศ“ปั้นน้ำเป็นตัว” ซึ่งไม่ใช่เป็นการว่ากล่าว แต่เป็นการนำสำนวนไทยมาทำให้เป็นเรื่องขัน ในช่วงแรกของการตั้งโรงน้ำแข็ง นายเลิศต้องประสบปัญหามากมาย แต่ด้วยไหวพริบและสติปัญญา ท่านก็สามารถฝ่าฟันอุปสรรคจนกิจการค้าเจริญก้าวหน้าขึ้นมาได้ และด้วยเหตุที่มีโรงน้ำแข็งเกิดขึ้น คุณหญิงสิน ภรรยาของท่านได้เริ่มการค้าอาหารที่เกี่ยวกับอาหารขึ้น เช่น ผลไม้แช่เย็น น้ำแข็งกด ในสมัยนั้นถ้าใครผ่านไปย่านถนนสี่พระยาและเจริญกรุงต่างก็ต้องแวะซื้อน้ำแข็งกดของนายเลิศกันทั้งนั้น

วันศุกร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2555

บางแคในอดีต




ในอดีตบางแคเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอหนองแขม จังหวัดธนบุรี มีชื่อว่า ตำบลหลักหนึ่ง ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น ตำบลบางแค ตามชื่อคลองสายหนึ่งที่ไหลผ่านพื้นที่และหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ริมคลองนั้น
ต่อมาพ.ศ.๒๔๗๒ สำนักนายกรัฐมนตรีได้ยุบอำเภอหนองแขมมาขึ้นกับอำเภอภาษีเจริญ แต่ในช่วงแรกตำบลบางแคยังคงเป็นท้องที่ปกครองของกิ่งอำเภอหนองแขมอยู่

จนกระทั่ง พ.ศ.๒๔๗๓ ทางการจึงโอนตำบลนี้มาขึ้นกับอำเภอภาษีเจริญโดยตรง เนื่องจากอยู่ใกล้กันและติดต่อกันได้สะดวกกว่า

เมื่อมีผู้คนย้ายถิ่นเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้น ในปี พ.ศ.๒๔๙๘ กระทรวงมหาดไทยจึงจัดตั้งสุขาภิบาลบางแคขึ้น ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลบางแค บางหว้า และบางด้วน เพื่อประโยชน์ในการทำนุบำรุงท้องถิ่น และขยายเขตออกไปในปี พ.ศ.๒๕๐๑ และ พ.ศ.๒๕๑๓

จนกระทั่งมีประกาศคณะปฏิวัติให้รวมจังหวัดธนบุรีกับจังหวัดพระนครเข้าด้วยกันเป็นนครหลวงกรุงเทพ-ธนบุรีในปี พ.ศ.๒๕๑๔ และเปลี่ยนรูปแบบเป็นกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ.๒๕๑๕ โดยให้ยุบการปกครองท้องถิ่นรูปแบบสุขาภิบาล รวมทั้งเปลี่ยนคำเรียกเขตการปกครองใหม่ ตำบลบางแคจึงเปลี่ยนฐานะเป็น แขวงบางแค ขึ้นกับเขตภาษีเจริญ ต่อมาพื้นที่ทางทิศตะวันตกของเขตภาษีเจริญมีความเจริญและมีประชากรหนาแน่น ในปี พ.ศ.๒๕๓๘ กรุงเทพมหานครจึงได้ตั้งสำนักงานเขตภาษีเจริญ สาขา ๑ ขึ้นเพื่อให้บริการประชาชน ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในแขวงบางแค แขวงบางแคเหนือ และแขวงบางไผ่

ในที่สุดจึงมีประกาศกระทรวงมหาดไทย แบ่งพื้นที่ในความดูแลของสำนักงานเขตภาษีเจริญ สาขา ๑ รวมกับพื้นที่แขวงหลักสองของสำนักงานเขตหนองแขมมาจัดตั้งเป็น เขตบางแค เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๐ และในวันที่ ๗ พฤศจิกายน ปีเดียวกัน ได้มีประกาศกรุงเทพมหานคร เปลี่ยนแปลงแนวเขตและพื้นที่แขวงทั้งสี่ของเขตบางแคใหม่ เพื่อความชัดเจนและประโยชน์ในด้านการปกครอง การบริหาร และการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ประกาศทั้ง ๒ ฉบับเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันเดียวกันคือวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๑

วันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2555

วัดพระบาทห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน



วัดพระบาทห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน 

วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ลำพูน เมืองลี้ซุกซ่อนตัวเองมาเนิ่นนานนานนับหลายปีที่ กระทั่งทางราชการได้มีการสร้างและขยายหนทางทำให้การเดินทางเข้าสู่ดินแดนอันเงียบสงบเมืองนี้สะดวกและรวดเร็วกว่าเดิม ทว่าการได้เข้าไปสัมผัสกลิ่นอายวัฒนธรรมของคนภูเขาที่บ้านห้วยต้ม บ้านห้วยต้มเป็นหมู่บ้านของชาวเขาเผ่าปกาเญอะหรือกะเหรี่ยงทั้งหมด ๖๐๐ หลังคาเรือน ซึ่งพวกเขาได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านห้วยต้มเมื่อปี ๒๕๑๔ หลังจากที่ทางราชการได้มีการสร้างเขื่อนยันฮีหรือเขื่อนภูมิพลขึ้น ชาวเขาเหล่านี้ไม่มีที่ทำกิน 

การอพยพเข้ามาอยู่ในระยะแรกมีความยากลำบากมากเพราะพื้นที่บางส่วนเป็นหินศิลาแลงและสภาพทั่วไปมีความแห้งแล้ง ชาวกะเหรี่ยงบางคนไม่สามารถทนอยู่ได้ต้องอพยพไปอยู่ในที่ใหม่ พวกที่ทนอยู่ได้ก็ตั้งหน้าทำงานต่อสู้กับอุปสรรคอันแห้งแล้งของธรรมชาติ 

เมื่อครั้งพุทธกาล สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จไปโปรดเวไนยสัตว์ในที่ต่างๆ ครั้งหนึ่งพระองค์ได้เสด็จมาถึงดงไม้ตาลแล้วขึ้นประทับบนจอมดอยแห่งหนึ่ง เรียกว่า“ดอยนางพี่”ได้ประทานพระเกศาธาตุ ๑ เส้นให้พวกละว้าที่มาเฝ้าอยู่ ณ ที่นั้นบรรจุไว้ในพระเจดีย์ ต่อมาเรียกว่า“ดอยนางนอนจอมแจ้ง”(เพราะเสด็จมาถึงที่นั่นตอนรุ่งเช้า) ต่อมามีพญาเมืองเถิน พ่อฤๅษีและหมอพรานอีก ๘ คนหาบเนื้อสดเดินมาพบเข้าไม่มีอะไรจะถวาย จึงเอาเนื้อมาถวาย พระพุทธองค์ก็ไม่ฉัน พวกพรานจึงเอาเนื้อไปกองรวมกันไว้ พวกละว้าที่อยู่ในบริเวณนั้นจึงไปต้มข้าวมาถวาย สมเด็จพระจอมไตรจึงทรงรับมาฉันและให้ศีลให้พรพวกละว้า พระพุทธองค์จึงทรงประทับรอยพระบาทไว้และทรงรับสั่งว่า“ถ้าผู้ใดปฏิบัติได้ตามที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนก็เหมือนอยู่ใกล้ ถ้าไม่ปฏิบัติก็เหมือนอยู่ไกล” จากนั้นจึงทรงประทานนามที่นั่นว่า“ห้วยต้มข้าว” ต่อมาเรียกเพี้ยนมาเป็น“ห้วยต้ม” ซึ่งเป็นชื่อวัดพระพุทธบาทห้วยต้มในปัจจุบัน 

วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม เป็นวัดที่มีความสวยงามทางด้านศิลปกรรมแบบผสมระหว่างล้านนากับพม่า โดยเฉพาะพระธาตุเจดีย์ทรงแหลมเรียวรายล้อมด้วยเจดีย์ขนาดเล็กอีก ๑๖ องค์ ภายในศาลารอบองค์พระธาตุเจดีย์จะมีรูปปั้นของเกจิอาจารย์ชื่อดังของประเทศกว่า ๓๐ องค์ และภายในศาลาหลังใหญ่ยังเป็นที่ตั้งศพของครูบาชัยยะวงศาพัฒนาบรรจุในโลงแก้วให้ศรัทธาประชาชนได้กราบไหว้ นอกจากนั้นในบริเวณด้านเหนือของวัดเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระเจ้าเก้าตื้อจำลอง ซึ่งประดิษฐานอยู่ในพระมณฑป ได้จัดให้มีพระราชพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไปเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๔๔ พระเจ้าเก้าตื้อที่ประดิษฐานอยู่ในพระมณฑปวัดพระบาทห้วยต้ม ได้จำลองมาจากพระเจ้าเก้าตื้อในอุโบสถวัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยฝีมือสกุลช่างเชียงแสนผสมสุโขทัยหน้าตักกว้างประมาณ ๑๒๐ นิ้ว ว่ากันว่าพระเจ้าเก้าตื้อองค์จริงที่วัดสวนดอกสร้างขึ้นในสมัยของพระยารัตนเมืองแก้ว เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๑๔ แห่งราชวงศ์มังราย(พ.ศ.๒๐๓๘-๒๐๖๘) อันนับเป็นยุคแห่งความรุ่งเรืองไพบูลย์ของศาสนาในเชียงใหม่มากที่สุด พระเจ้าเก้าตื้อองค์นี้นับเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามได้สัดส่วน และเนื่องด้วยที่พระองค์นี้มีน้ำหนัก ๙ ตื้อ ซึ่งเป็นมาตราชั่งของคนล้านนา ต่อมาชาวบ้านจึงเรียกกันต่อมาว่า“พระเจ้าเก้าตื้อ” 

เมื่อครั้งที่ครูบาวงศ์ ได้สร้างมณฑปขึ้นที่วัดพระบาทห้วยต้ม ท่านได้ให้ช่างปูนปั้นจำลองแบบพระเจ้าเก้าตื้อมาจากองค์จริงที่ประดิษฐาน ณ วัดสวนดอก พร้อมกับได้กราบทูลอาราธนาสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก เสด็จมาเป็นองค์ประธานทำพิธีเททอง ความรุ่งเรืองแห่งพุทธศาสนาในแผ่นดินลี้ยังแผ่ขยายปกคลุมให้ชนชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นด้วย ปัจจุบันมีชาวกะเหรี่ยงบ้านห้วยต้มจำนวนมากเลื่อมใสศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาและเชื่อฟังคำสั่งสอนของครูบาวงศ์ ทุกๆวันพวกเขาจะไม่ทานเนื้อสัตว์และจะเคร่งครัดยึดมั่นในศีล จะเห็นได้จากที่เวลาชาวบ้านไปทำบุญที่วัดมักจะถอดรองเท้าไว้ตั้งแต่ที่หน้าประตูวัด ซึ่งภาพเช่นนี้มีให้พบเห็นไม่บ่อยนัก หากไม่นับรวมกับความศรัทธาของชาวไทใหญ่แห่งพม่าที่ยังคงยึดถือปฏิบัติความเชื่อเช่นนี้เหมือนกัน 

การเดินทางไปยังวัดพระพุทธบาทห้วยต้มใช้เส้นทางสายลำพูน-ลี้ระยะทางประมาณ ๑๐๘ กิโลเมตรจะมีทางแยกขวามือเข้าสู่วัดพระพุทธบาทห้วยต้มอีกประมาณ ๘ กิโลเมตร สำหรับศรัทธาประชาชนต้องการไปกราบไหว้พระมหาเจดีย์ศรีเวียงชัย รอยพระพุทธบาทจำลอง พระเจ้าเก้าตื้อที่งดงามที่สุด รวมถึงเคารพศพครูบาวงศ์ที่บรรจุอยู่ในโลงแก้ว สามารถเดินทางได้ตามเส้นทางดังกล่าว










วันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ตำนานเรื่องเล่าของ สี่หู ห้าตา จากนิทานพื้นบ้าน



ตำนานเรื่องเล่าของ สี่หู ห้าตา จากนิทานพื้นบ้าน

กาลครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล มีชายหนุ่มกำพร้าผู้หนึ่ง ฐานะยากจนขัดสนมาก แต่ยังมีที่ทำกินเพียงน้อยนิดไว้สำหรับ แต่ก็ยังเหลืออยู่บ้าง

มีพระอินทร์บนสวรรค์ท่านหนึ่ง ซึ่งมองเห็นชีวิตและความเป็นอยู่ของชายหนุ่มผู้นี้ พระอินทร์ผู้ศักดิ์สิทธิ์อยากจะลงมาช่วยเหลือชายปลุกข้าว มีอยู่ปีหนึ่งดูเหมือนว่า ฝนฟ้าจะไม่เป็นใจให้ชายหนุ่มมากนัก ต้นข้าวที่ปลูกไว้ แห้งตายมากพอสมควร หนุ่มกำพร้าให้พ้นจากความทุกข์ยาก จึงแปลงร่างมาปรากฏเป็นสัตว์ประหลาดตัวหนึ่ง ซึ่งมีหูสี่หู มีตาอีกห้าตา ในโลกมนุษย์ไม่มีสัตว์ประเภทนี้เลยก็ว่าได้ และสัตว์ประหลาดตัวนี้ได้มาทำลายต้นข้าวที่ยังเหลืออีกส่วน บังเอิญชายหนุ่มซึ่งได้มาพบเห็นต้นข้าวที่ถูกทำลาย ก็เกิดความโมโหขึ้นมาทันที คิดจะฆ่าสัตว์ตัวนี้ แต่ก็ไม่มีอาวุธใดและพยายามหาวิธีจะกำจัดให้พ้นๆไป แต่ก็ไม่รู้จะทำด้วยวิธีใดอีก ระยะเวลาผ่านไปจนกระทั่งชายหนุ่มจับสัตว์ประหลาดได้ จึงพามายังที่พักเป็นกระท่อมเล็กๆ ได้ผูกไว้ติดกับต้นเสา พอตกเย็นใกล้จะถึงหัวค่ำ ชายหนุ่มก็ได้หาอาหารที่มีอยู่ตามประสาคนจน พอมีพอกินและให้อาหารสัตว์ตัวนั้น มันไม่ยอมกินอาหารแต่อย่างใด แต่มันทำตัวดูเหมือนว่ากำลังหนาวจัด คงต้องการความอบอุ่นมาก ชายหนุ่มจึงหาฟืน แล้วก็ก่อไฟให้มัน จนระยะเวลาผ่านไป ชายหนุ่มรู้สึกง่วงนอนมาก จึงคิดจะกลับไปนอนพักผ่อน พอหันมาอีกทีเห็นสัตว์ประหลาดตัวนั้นกำลังจับถ่านไฟแดงที่ร้อนจัด กินเข้าไปอย่างไม่รู้สึกร้อนแต่อย่างใด
จนกระทั่งชายหนุ่มเผลอหลับไป มารู้สึกตัวอีกทีก็สว่างพอดีและยังรู้สึกลงอยู่มาก ที่ได้พบสัตว์แปลกประหลาดตัวนี้ แต่ยังพบความแปลกประหลาดมากไปกว่านั้นอีก ที่ชายหนุ่มต้องตกตะลึงมาก คือ สัตว์ตัวนั้นกินถ่านไฟ ซึ่งไม่เคยพบเจอมาก่อนและยังขับถ่ายออกมาเป็นทองคำแท้อีก ชายหนุ่มกำพร้าจึงร่ำรวยขึ้นมาเรื่อยๆ.....
ชายหนุ่มจึงกลับมาทบทวนความคิดอีกครั้ง ....เออ...ดีนะที่เราไม่ได้ฆ่าสัตว์ประหลาดตัวนั้น มิเช่นนั้นเราคงไม่มีทรัพย์สมบัติมากมายอย่างนี้
แสดงให้เห็นว่าชายหนุ่มกำพร้าผู้นี้ ก็ยังมีความเมตตาอยู่บ้าง ถึงแม้ต้นข้าวที่ถูกทำลายจนเกิดความเสียหายจนโมโหมาก แต่ก็ยังคิดจะละเว้นชีวิตให้สัตว์ตัวนั้น
นิทานเรื่องนี้อ้างอิงมาจากเรื่องเล่าของหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา(ครูบาวงศ์)อยากให้ทุกคนหมั่นรักษาศีล ภาวนาให้มากๆและมีพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ถ้าคนเรายึดถือสิ่งเหล่านี้ได้ ชีวิตเราจะพบแต่ความสุขตลอดกาล
คำไหว้ สี่หูห้าตา(พระอินทร์)

สาธุ อหัง นะมามิ พระอินทร์ อากาเสจะ พุทธทิปังกะโร
นะโมพุทธายะ อิอะระณัง อะระหัง กุสะลาธัมมา สัมมาสัมพุทโธ
ทุสะนะโส นะโมพุทธายะ พระโสนามะ ยักโข เมตตามหาลาภา ปิยังมะมะ
ทันตะ ปริวาสะโภ วาสุนี หะเต โหนตุ ชัยยะมังคลานิ
สวดทุกวัน กันไฟไหม้ ฟ้าผ่า อันตรายต่างๆ ชนะภัยทั้งปวง บรรเทาทุกข์ เวทนา จากการเจ็บป่วยและเป็นมหาโชค มหาลาภ แก่ผู้ที่บูชากราบไหว้ ดีนักแล
คำไหว้เทวทูต ๙ ห้อง(อายุยืน ห้ามมัจจุราช)
พุทโธ พุทธังรักษา ธัมโม ธัมมังรักษา สังโฆ สังฆังรักษา
พุทโธ พุทธงอรหัง ธัมโม ธัมมังอรหัง สังโฆ สังฆังอรหัง
พุทโธ พุทธังกันฮะ ธัมโม ธัมมังกันฮะ สังโฆ สังฆังกันฮะ
อายุวรรณโณ สุขังพะลัง ภะวันตุเม
นะสา ปาเส พุรุอะกัง ปริปัตตัง
ปริขัตตัง มะจุราชา นภาสติ