วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555

พิธีโกนจุกเด็ก


"ผมเปียมาเลียใบตอง พระตีกลองตะลุ่มตุ้มมง 
ผมจุกคลุกน้ำปลา เห็นขี้หมานั่งไหว้ประจ๋องหง่อง 
ผมแกละแคะขนมครก ตูดกระดกขนมครกหกหมด"

ภาพเด็กๆ ไว้ผมจุก แกละ เปีย และโก๊ะ ได้สะท้อนสภาพสังคมไทยในอดีต ที่ยังคงเหลืออยู่ไม่มากนักในถิ่นชนบท ซึ่งยังคงมีความเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจที่จะมาเอาชีวิตเด็กไป เพราะผีโบราณมักอิจฉาเด็กที่หน้าตาน่ารัก การไว้ผมจุกนั้น เพื่อลวงให้ภูตผีสำคัญผิดคิดว่าเป็นทายาทของเทพ เพราะเทพเจ้าผู้เป็นใหญ่ในความเชื่อ มักจะมีมวยผมบนศีรษะและมีอำนาจเหนือธรรมชาติ สามารถปราบปีศาจให้เกรงกลัวได้

แต่ในความเป็นจริงนั้น เกิดจากสภาพภูมิอากาศของไทยที่เป็นเมืองร้อน เวลาเด็กๆ วิ่งเล่นออกกำลังกายจนเหงื่อ ไหลไคลย้อย หากไว้ผมยาวก็จะดูแลรักษาลำบาก บางทีก็เป็นหิดเหาได้ง่าย การไว้ผมทรงและโก๊ะ จุกและเปีย จึงง่ายแก่การดูแลเรื่องความสะอาด สร้างความเย็นสบายบนศีรษะ รวมทั้งเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความเป็นเด็กอยู่

ตามขนบธรรมเนียมไทยแต่โบราณ เมื่อเด็กทารกอายุครบเดือนจะมีพิธีโกนผมไฟ โดยจะไว้ผมอยู่หย่อมหนึ่งกลางกระหม่อมที่ยังปิดไม่สนิท เพราะถ้าโกนออกหมดกระหม่อมเด็กจะได้รับอากาศเย็นเกินไป อาจทำให้เด็กไม่สบายได้ง่าย จึงให้ไว้ผมหย่อมนี้เอาไว้ไม่ว่าจะโกนกี่ครั้ง จนกลายเป็น ผมจุก แกละ โก๊ะ นับแต่บัดนั้นมา


สำหรับเรื่องเด็กต้องไว้ทรงผมใดนั้น ขึ้นอยู่กับเหตุผล ๒ ประการ คือ
ประการแรก ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมว่า ผมทรงใดที่เข้ากับใบหน้าเด็กและเกิดความสวยงาม
ประการหลัง กรณีที่มีการบนบานศาลกล่าวให้หายเจ็บป่วย ผู้เป็นพ่อแม่ย่ายายจะต้องหาดินมาปั้นเป็นตุ๊กตาหลายๆ แบบ ให้มีทรงผมจุก แกละ และโก๊ะไว้ให้เด็กเล่น แล้วคอยหมั่นสังเกตเด็กชอบเล่นตุ๊กตาแบบใดมากที่สุด ก็ให้เด็กไว้ผมทรงแบบตุ๊กตาที่ถูกโฉลกตัวนั้น



ส่วนการไว้ผมทรงจุก แกละ โก๊ะ และเปีย เริ่มมีมาแต่สมัยใดไม่สามารถหาหลักฐานได้แน่ชัด เข้าใจว่ามีบางส่วนคงได้รับอิทธิพลมาจากต่างประเทศแถบทวีปเอเชีย ดังเช่น
ชาวชวามาลายูบางพวก เมื่อเวลาโกนผมเด็ก เขาจะเหลือเอาไว้หย่อมหนึ่งให้เป็นที่พักของขวัญ ถ้าไม่เหลือเอาไว้ ขวัญจะไม่มีที่อยู่และหนีไปที่อื่นเสีย อาจจะทำให้เด็กไม่สบาย บางรายอาจถึงตายได้ แม้เกิดมีเหาจำเป็นต้องโกนทิ้งก็ยังไม่ยอมโกนหมด ต้องคงเหลือไว้หย่อมหนึ่งให้ขวัญได้พักอาศัย
ชาวอินเดียเรียกตรงขม่อมว่า“พรหมรันทร” เพราะถือว่าเป็นอาตมันหรือวิญญาณของคนได้เข้าออก พวกโยคีเวลาจะตาย เขามักทุบกะโหลกบริเวณนั้นให้แตก เพื่อช่วยให้อาตมันออกจากร่างไปได้สะดวก นี่ก็คือความคิดเห็นทำนองเดียวกันกับของไทย ภายหลังใช้มะพร้าวแทนกะโหลกซึ่งเราก็ได้มาก็คือการทุบมะพร้าวก่อนเอาศพไปเผา

สมัยที่พวกแมนจูมีอำนาจเหนือแผ่นดินจีน คนจีนถูกบังคับให้ไว้หางเปีย เพื่อใช้ถือตอนถูกตัดศีรษะประหารหรือใช้มัดเชลยติดกัน ป้องกันการหลบหนี

ส่วนคนไทยนิยมให้เด็กไว้ผมทรงแกละ โก๊ะ และเปียเป็นส่วนใหญ่ แต่ผู้ที่มีฐานะทางการเงินดีหรือชั้นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ตลอดจนบุตรธิดาของขุนนางชั้นผู้ใหญ่พากันไว้ผมจุก ที่เป็นดังนี้เพราะอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชาติบ้านเมืองตามคัมภีร์ไสยศาสตร์ ซึ่งเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ได้ไว้ผมยาวขมวดมุ่นเป็นมวยไว้กลางศีรษะ เลยนำมาดัดแปลงเป็นทรงผมเด็ก ด้วยต้องการให้อยู่ในความคุ้มครองอารักขาของพระผู้เป็นเจ้า

ตามธรรมเนียมครั้งโบราณกาลระบุไว้ว่า เมื่อเด็กมีอายุพอสมควรใกล้จะเป็นหนุ่มเป็นสาว (ชาย ๑๓ ปี หญิง ๑๙ ปี) ตามคตินิยมของอินเดียต้องทำพิธีตัดจุก ซึ่งแต่เดิมเรียกกันว่า“การลงท่าโกนจุก” ถือกันเป็นพิธีเก่าแก่ของไทยอย่างหนึ่งที่มีมาก่อนกรุงเก่า ทำเพื่อเป็นสิริมงคลให้แก่เด็กก่อนที่จะเริ่มต้นสู่ความเป็นผู้ใหญ่
ลักษณะการทำพิธีลงท่าโกนจุกนั้น ต้องหาฤกษ์ดีประกอบกันหลายอย่าง เช่น ให้โหรตรวจฤกษ์และดูวันที่เป็นมงคล โดยมีข้อห้ามตัดจุกกันเอาเอง มิฉะนั้นเด็กคนนั้นจะเป็นบ้าเสียจริต ดังนั้น ส่วนมากจะทำกันที่เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เพราะการโกนจุกเป็นเรื่องของพราหมณ์ ส่วนผู้ที่กำลังทรัพย์พอจะทำที่บ้านตนเอง มักถือโอกาสกระทำร่วมกับพิธีมงคล เช่น งานขึ้นบ้านใหม่ งานทำบุญวันเกิดหรืองานมงคลอื่นๆ เพราะถือเป็นงานมงคลเหมือนกัน

พิธีการลงท่าโกนจุกนี้ มักจะทำกันในระหว่างเดือนยี่ถึงเดือนสี่ โดยให้โหรคำนวณฤกษ์ยามให้แน่นอน แต่เพื่อป้องกันวันโลกาวินาศ จึงมักทำกันในคราวเดียวกับพระราชพิธีตรียัมปวาย ที่เรียกเป็นภาษาชาวบ้านว่า“พิธีโล้ชิงช้า” อันเป็นพิธีขึ้นปีใหม่ของพราหมณ์ เพื่อต้อนรับการเสด็จลงมาเยี่ยมโลกมนุษย์
พระอิศวรจะเสด็จลงมาปีละครั้งๆ ละ ๑๐ วัน ตั้งแต่เดือนอ้ายขึ้น ๗ ค่ำ และจะเสด็จกลับในเดือนยี่ วันแรม ๑ ค่ำ ต่อจากนั้นพระนารายณ์จะเสด็จลงมาในเดือนยี่ วันแรม ๑ ค่ำ และเสด็จกลับมาในวันแรม ๑ ค่ำ วันสุดท้ายนี้ เวลาบ่ายโมง มีการสวดมนต์ที่ในเทวสถานโบสถ์พราหมณ์
รุ่งขึ้น เดือนยี่ วันแรม ๖ ค่ำ เวลาเช้ามีการเลี้ยงพระที่สวดมนต์ และจะมีชาวบ้านนำบุตรหลานมาโกนจุกที่เทวสถาน โดยเหตุนี้พิธีโกนจุกจึงเป็นพิธีต่อเนื่องกับพิธียัมปวาย(ต้อนรับพระอิศวร) และพิธีตรีปวาย(ต้อนรับพระนารายณ์)
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาฯ โปรดเกล้าฯ ให้ทำพิธีโกนจุกเป็นประจำทุกปีเสมอมา เมื่อเด็กอายุประมาณ ๑๑ - ๑๓ ปี สำหรับเจ้านายระดับพระองค์เจ้าเรียกว่า พิธีโสกันต์ ถ้าเป็นระดับหม่อมเจ้าเรียกพิธีเกศากันต์ โดยได้ยึดถือเอาวันแรม ๕ ค่ำ เดือนยี่เป็นเกณฑ์ ซึ่งบางทีอาจจะไปตรงกับเดือนมกราคม ช่วงต้นเดือน กลางเดือนหรือปลายเดือน บางปีก็ตกอยู่ในเดือนธันวาคมก็มีเหมือนกัน ดังนั้นในบางปีก็อาจจะมีในเดือนมกราคมตอนต้นปี แล้วพอปลายปีในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน พ.ศ.เดียวกันก็อาจมีอีกก็ได้ ทั้งนี้ยึดถือเอาวันแรม ๕ ค่ำ เดือนยี่เป็นเกณฑ์


ขณะเดียวกันก็มีข้อห้ามของคนโบราณที่ถือกันอย่างเคร่งครัดในการ “ห้ามเผาผีวันศุกร์ โกนจุกวันอังคาร และแต่งงานวันพุธ” เหตุที่มีการห้ามโกนจุกวันอังคารนั้น มีเรื่องเล่าเป็นตำนานดังนี้

ในกาลครั้งหนึ่ง พระอิศวรผู้เป็นใหญ่ดำริจะมีพิธีโสกันต์พระขันธกุมาร พระองค์จึงได้เรียกประชุมพระผู้เป็นเจ้าทั้งสามพระองค์ คือ พระพรหม พระนารายณ์ ในเทวสถานและต่างมีความเห็นพ้องต้องกันว่า ควรทำพิธีโสกันต์ในวันอังคารที่ใกล้จะมาถึง
ครั้นถึงวันอังคาร พระผู้เป็นเจ้าทั้งสอง รวมทั้งพระอาทิตย์ พระจันทร์และท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ คงขาดอยู่แต่พระนารายณ์เท่านั้นที่ยังมาไม่ถึง พอใกล้เวลาฤกษ์ พระอิศวรจึงมีเทวบัญชาให้พระอินทราธิราช นำเอาสังข์พิชัยยุทธไปเป่าอัญเชิญพระนารายณ์
ปรกติพระนารายณ์บรรทมอยู่ในกลางเกษียรสมุทร (ทะเลน้ำนม) เป็นนิตย์ ยามใดพระอิศวรต้องการให้ลงไปปราบยุคเข็ญบนโลกมนุษย์จึงปลุกขึ้น พอได้ยินเสียงสังข์พิชัยยุทธที่พระอินทร์เป่าก็ทรงสะดุ้งตื่น และเปล่งสุรเสียงตรัสถามพระอินทร์ว่า “โลกเกิดเหตุใดหรือ” พระอินทร์ได้ทูลว่า บัดนี้ได้ฤกษ์ที่จะโสกันต์พระขันธกุมารแล้ว พระอิศวรให้มาทูลเชิญให้รีบเสด็จไป พระนารายณ์ได้ฟังจึงขัดเคืองและพลั้งพระโอษฐ์ตรัสว่า “จะนอนให้สบายสักหน่อยกไม่ได้ ไอ้ลูกหัวหายช่างกวนใจเหลือเกิน” ด้วยอำนาจแห่งวาจาสิทธิ์ ทำให้พระเศียรของพระขันธกุมารหายวับไป
ฝ่ายพระอิศวรเห็นเหตุดังนี้ พระองค์จึงมีเทวโองการให้พระวิษณุกรรมเหาะมายังพื้นพิภพ เที่ยวหามนุษย์ที่นอนหันเอาศีรษะไปทางทิศตะวันตก ซึ่งแสดงว่าคนผู้นั้นตายแล้วรีบตัดเอาศีรษะมา พระวิษณุกรรมตระเวนหาเท่าใดก็ไม่พบ จึงหวนกลับไปทูลพระอิศวรให้ทรงทราบ
คราวนี้พระอิศวรมีรับสั่งใหม่ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ หากนอนหันศีรษะไป ทางทิศตะวันตกก็ให้ตัดศีรษะมา พระวิษณุกรรมเหาะลงมาพบช้างสองตัวแม่ลูกนอนเอาหัวหันไปทางทิศตะวันตก เลยได้ตัดหัวตัวลูกมาถวายพระอิศวร พระผู้เป็นเจ้าจึงได้สำแดงเทวฤทธิ์ซ่อมแซมพระเศียรพระขันธกุมารให้ แล้วประธานนามใหม่ว่า“พระพิฆเนศวร” (เทพเจ้าแห่งศิลป์)







ปัจจุบัน ผู้ปกครองไม่ค่อยนิยมให้ลูกหลานไว้ผมจุก แกละ โก๊ะ เปีย กันแล้ว นับตั้งแต่มีการแพทย์สมัยใหม่ในการรักษาเด็กเล็กๆ ให้รอดพ้นจากการเสียชีวิตแต่เยาว์วัย รวมถึงการเข้าเรียนระดับปฐมวัยตามหลักสูตรแผนใหม่ ทั้งที่ไม่มีกฏเกณฑ์ข้อห้ามบังคับ แต่เด็กที่ไว้ผมทรงเหล่านี้มักจะถูกเพื่อนๆ ล้อเลียน กลายเป็นที่ขบขัน แปลกประหลาดสำหรับคนทั่วไป ทั้งที่ความจริงแล้ว การไว้ผมจุก แกละ โก๊ะ หรือเปีย ล้วนเป็นภูมิปัญญาเก่าแก่ของคนโบราณที่สั่งสมสืบทอดกันมาเนิ่นนาน

3 ความคิดเห็น:

  1. เคยอ่านในบางบล็อคว่า การไว้จุก แกละ เปีย โก๊ะ ก็เป็นธรรมเนียของชาวมอญด้วยเช่นกัน แต่เคยดูสารคดีเกี่ยวกับวัดในพม่า มีรูปวาดเป็นเด็กไว้จุก แกละ ผู้บรรยายบอกว่าสันนิษฐานว่าผู้วาดเป็นคนไทยที่ถูกกวาดต้อนไป เพราะเด็กพม่าไม่ไว้จุก มอญก็เคยอยู่ในพม่า กลับมีธรรมเนียมต่างกัน

    ตุ๊กตา

    ตอบลบ
  2. การใช้ธีม เด็กไทย ไว้ผมทรง จุก แกละ เป็นการเผยแพร่วัฒนะรรมไทย ต่อสายตาชาวโลกได้อย่างภาคภูมิใจ

    ตอบลบ
  3. ใครมีหรือทราบข้อมูล ประวัติความเป็นมาของไทยเรา ที่น่าสนใจ ยังไม่ได้รับการเผยแพร่ นำมาเล่าสู่กันฟัง จักขอบพระคุณแทนชาวไทยด้วยนะครับ

    ตอบลบ